HOME / READ / Anxiety of Transparency

Anxiety of Transparency

By ศาสตราจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา

ผลงาน Conceal ของสุธี คุณาวิชยานนท์ เป็นอะไรที่มากไปกว่า “อำพราง” อะไรหลายต่อหลายอย่างถูก ‘ปิดบัง’ เอาไว้ในตัวเอง จากสีเหลือง สีแดง สีเขียว ไปจนถึงพื้นที่ (space) ที่กำกับอาณาเขตแห่งรัฐประชาชาติ (nation-state) ตอกย้ำการ ‘Conceal’ มากกว่า ‘ความอยาก’ (desire) ที่จะ ‘เปิดเผย’ เป็นเพียง ‘ความอยาก’, ‘แว่นสี’ ต่าง ๆ ไม่เพียงแค่กำหนดการ ‘มองเห็น’ รัฐประชาชาติ และอะไรอื่น ๆ ตามนัยยะทางการเมืองของสีเท่านั้น  แต่ยังสร้างความหวาดวิตกต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย

ภายใต้ประสบการณ์รับรู้โลกการเมืองได้อย่างง่ายๆ ผ่าน ‘สี’ เช่น Orange Revolution (พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 – มกราคม ค.ศ. 2005) เป็นต้น สีและความหลากหลายของสีที่มาจับคู่กันกับการเมืองแสดงความเข้มข้นในธงชาติ โลกการเมืองมีสีสันหลากสีบ่งบอกการแบ่งกลุ่ม จนทำให้การเมืองที่มีความซับซ้อนง่ายต่อความเข้าใจ ทุก ๆ คนมีอัตลักษณ์ประจำตัวตามสี ผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีชั้นสีเคลือบ ‘แว่น’ หนาๆ ก็จะมีความเข้มข้นในชีวิตทางการเมืองมาก 

ผลงานชื่อ ประเทศไทยลายพรางสีแดง (ขวา) ในนิทรรศการ พราง

การแบ่งการเมืองออกเป็นสีๆ แสดงถึงคุณลักษณะของการเมืองในฐานะการแบ่งแยกและการกันออกไป  คำว่าการเมืองแสดงถึงการกันออกไปในตัว การเมืองแสดงคุณลักษณะของ ‘ความเป็นเมือง’ มากกว่า ‘ชนบท’ หรือ ‘บ้านนอก’ จนทำให้ความเข้าใจ ‘ความเป็นการเมือง’ (Political) (ที่ไม่ใช่แบบที่เข้าใจกันในชีวิตการเมืองทั่ว ๆ ไป) แบบนักคิดและนักกฎหมายอนุรักษ์นิยมเยอรมันในศตวรรษที่ยี่สิบ Carl Schmitt เห็นว่า ‘ความเป็นการเมือง’ เป็นเรื่องของ ‘การแบ่งมิตรและศัตรู’  

ความหลากหลายของ ‘สี’ ในการเมือง บ่งความแตกต่างมากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐประชาชาติคาดหวังมวลสมาชิกมีความเป็นเอกพันธุ์ (homogeneity) หรือความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน กลไกการศึกษาภาคบังคับ (ดูผลงานของ สุธี คุณาวิชยานนท์, ชุด กระดานดำ, 2001-2020 และชุด ห้องเรียนประวัติศาสตร์, 2000 และ 2006-2013) มีความสำคัญมากสำหรับสำหรับการสร้างรัฐประชาชาติ  เช่น ผลงานของสุธี เรื่องการศึกษาและประวัติศาสตร์ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เป็นต้น

ผลงานชุด กระดานดำ ชื่อ Blackboard
(Indonesia-Thailand-Singapore)
ปี 2563

ผลงานชุด ห้องเรียนประวัติศาสตร์ ชื่อ
History Class (Indonesia) ปี 2559-2563

ในผลงานของสุธีที่ชื่อ ภาระของศิลปินไทย, 2010 สุธีอ้างถึงประโยคของ Bruce Nauman ว่า “The true artist helps the world by revealing mystic truth”  ภาระแบบนี้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับ ‘civilizing mission’ ของเหล่าอดีตเจ้าอาณานิคมที่ต้องปลดปล่อยคนพื้นเมืองออกจากความเชื่อที่งมงาย ภาระของ Nauman ในฐานะศิลปินผู้ต้องการเปิดเผยความจริง เป็นแนวทางการปฏิบัติการตามวิถีสามัญของ Enlightenment นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบแปดเป็นต้นมา

 

ผลงานชื่อ ภาระของศิลปินไทย (ข้อความจากภาพรับบิ้งหน้าโต๊ะ “ศิลปินไทยช่วยให้มนุษย์หลุดพ้น ด้วยศิลปะที่ยกระดับจิตวิญญาณ / ศิลปินคือสัตว์โลกที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในบ่วงกรรมทางโลก” ปี 2553

แนวทางของพวก Enlightenment ที่จะให้แสงสว่างแห่งภูมิปัญญานั้น ฉายแสงไปทำลายเหล่าตำนาน ความเชื่อที่งมงาย ศาสนา ฯลฯ  เจตจำนงที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความจริง คือพลังสำคัญของผู้คนในโลกสมัยใหม่ ประหนึ่งการฉายแสงให้เหล่ามะเร็งหยุดการเจริญเติบโต เพียงแต่การฉายแสงไม่ได้หยุดแค่มะเร็งร้ายเท่านั้น

เมื่อนำข้อความแบบ Bruce Nauman มาใช้กับรัฐประชาชาติก็ทำให้เกิดคำถาม (ยอดนิยม) ทางแสงสว่างแห่งภูมิปัญญาว่า ‘What is Nation?’ หรือ ‘ชาติคืออะไร?’  ทำอย่างไรถึงจะทำให้ ‘mystic truth’ ของ ‘Nation-State’ หมดไป?  คำถาม ‘What is Nation?’ หรือ ‘What is Nation-State?’ เป็นเรื่องสำคัญในครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าของยุโรปตะวันตก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ‘State’ หรือรัฐกลายมาเป็นรัฐในรูปแบบ ‘Nation-State’ หรือชาติและรัฐถูกนำมาอยู่คู่กัน

เมื่อคำว่า ‘Nation’ และ ‘State’ ที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อนนั้นต้องมาอยู่ด้วยกัน ย่อมสร้างปัญหาเป็นธรรมดา ‘อะไรคือรัฐ/ชาติ?’  สำหรับ Ernest Renan กับคำบรรยายอันโด่งดังในปี ค.ศ. 1882 “What is Nation?” ได้หันเหไปจากความจริงเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้  ความเป็น ‘ชาติ’ ไม่ใช่ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ สำหรับ Renan ผู้เคยคิดจะเป็นพระคาทอลิกมาก่อนเห็นว่า ‘Nation’ ดำรงอยู่ในแบบจิตวิญญาณ (spiritual)  เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรูปธรรม 

ในการสร้างรัฐประชาชาติสิ่งที่จำเป็นสำหรับ Renan คือการหลงลืม (forgetfulness) หรือไปถึงขั้น ‘ความไม่จริง/ผิดทางประวัติศาสตร์’ (historical error) สิ่งที่ไม่จริงเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชาติ ความจริงไม่ได้มีความสำคัญต่อการสร้างรัฐประชาชาติเสมอไป ความจริงไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือเพียงแค่ ‘ครึ่งหนึ่งของความจริง’ (ผลงานชุด ครึ่งหนึ่งของความจริง, 2010 ของ สุธี คุณาวิชยานนท์) จึงไม่มีความสำคัญ ความคิดของ Renan ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดเรื่องรัฐประชาชาติในฐานะ “ชุมชนจินตนาการ” (imagined community) ของ Benedict Anderson หนังสือเล่มนี้ฉบับแปลภาษาไทยออกแบบปกโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ผลงานชื่อ นิ้วกลางอันแสนอ่อนช้อย (วงรี) ในนิทรรศการชื่อ ครึ่งหนึ่งของความจริง ปี 2553

ปฏิกิริยาชาตินิยมขยายตัวไปพร้อมกับการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่แพร่ไปพร้อม ๆ กันกับเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อันเป็นแนวความคิดที่ต้องการลดบทบาทรัฐและส่งเสริมอำนาจของเอกชน เช่น การทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเป็นของรัฐให้เป็นของเอกชน (privatization) เช่น เปลี่ยนกรมไปรษณีย์โทรเลขให้กลายเป็นบริษัท เป็นต้น เน้นตลาดเสรี ลดงบประมาณรายจ่ายรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยไม่ได้รับเงินจากรัฐ แต่ต้องหาเงินได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น    

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบสำนึกชาตินิยมทวีความรุนแรงมากขึ้นในดินแดนต่าง ๆ  จากประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาจนถึงประเทศยากจน ปฏิกิริยาต่อโลกาภิวัตน์ (สุธี คุณาวิชยานนท์, ผลงานชุด 12 เหตุผลทำไมคนไทยไม่กลัวโลกาภิวัตน์, 2004) มาจนถึงผลงานชุด พราง: แผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ,  2024 บ่งบอกถึงความวิตกกังวล ความไม่แน่นอนของระเบียบโลกใหม่ (ดูผลงาน ระเบียบโลกใหม่ 2567, 2024 ของ สุธี คุณาวิชยานนท์) ผลงานชิ้นนี้นำเสนอภาพของดินแดนต่าง ๆ แยกออกจากกันมากกว่าที่จะอยู่เป็นพวกเดียวกันชัดเจนแบบช่วงเวลาสงครามเย็น (Cold War) โดยโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 การรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความถึงการรวมตัวกันทางการทหาร 

ผลงานชื่อ 12 เหตุผลทำไมคนไทยไม่กลัวโลกาภิวัตน์ (ภาพชื่อ “บูรณาการภูมิปัญญาไทย : นวดไทยแผนโบราณ กับ แม่ไม้มวยไทย) ปี 2547

ผลงานชื่อ ระเบียบโลกใหม่ 2567, 2567 สีอะคริลิคบนผ้าใบลินินบนพลาสท์วูด, 80 x 120 ซม.

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ที่ดำเนินไปด้วยอุดมการณ์การเจริญเติบโต (growth) ทำให้หลายต่อหลายประเทศร่ำรวยมากขึ้น จำนวนของเหล่าประเทศมหาอำนาจมีมากขึ้น  ประเทศที่มีอำนาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่สหรัฐอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นขั้วอำนาจเดียวในโลกหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเทศที่เคยยากจน เช่น จีน อินเดีย ขยับสถานะขึ้นมามีบทบาทในการเมืองโลก  แม้ว่าช่องว่างทางรายได้จะห่างมากมายมหาศาลก็ตาม ประเทศเอเชียตะวันออกร่ำรวยมากขึ้น  หลายต่อหลายประเทศในแอฟริกาตะวันออกก็ร่ำรวยมากขึ้น เป็นต้น 

การขึ้นมามีอำนาจของจีนกลับเป็นภัยต่อสหรัฐอเมริกา จุดยืนของ NATO ต่อจีนสะท้อนชัดเจน  ข้อเสนอของ James G. Stavridis อดีต Supreme Allied Commander Europe แสดงถึงอยากได้สมาชิกใหม่นอกเขตยุโรป โดยต้องการรวมเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมเป็นสมาชิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พร้อม ๆ กันกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ก็ทำให้ Stavridis เห็นว่าประเทศฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ ควรจะได้รับเชิญเข้าร่วมกับ NATO ในปี ค.ศ. 2022 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกับ NATO มาแล้ว

การขยายพื้นที่การควบคุมของ NATO แสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางของความขัดแย้งยังคงอยู่ที่ยุโรป  ไม่ว่าจะรวมเอารัสเซียว่าเป็นยุโรปหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่การพังทลายของสหภาพโซเวียตหลังปี ค.ศ. 1991 ก็หมายความถึงรัฐกันชนของรัสเซียในยุโรปตะวันออกกลายมาเป็นยุโรป ‘ตะวันตก’ วันเวลาที่รัสเซียจะมี ‘ความเป็นยุโรป’ หรือ ‘ตะวันตก’ เต็มตัว คือเป้าหมายสำคัญในอนาคต ยุโรปที่สิ้นสุดที่เทือกเขายูราล (Ural Mountains) เทือกเขาแคบ ๆ นี้ตามความคิดสามัญถือว่าแบ่งยุโรปและเอเชีย โดยทางใต้ครอบคลุมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐคาซัคสถาน

เส้นทางของการขยายอำนาจออกสู่แปซิฟิกของจีนทำให้ความทรงจำในอดีตแบบที่เกิดกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่สองกลายมาเป็นอะไรที่หลอกหลอนสหรัฐอเมริกา คราวนี้ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ของ J. Robert Oppenheimer และคณะไว้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อใคร ๆ ก็สามารถมีอาวุธทำลายล้างระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้ทั้งนั้น สงครามเต็มรูปแบบคือความหายนะของทั้งสองฝ่าย พลังอำนาจของอาวุธทำลายแบบนิวเคลียร์ทำให้ไม่มีใครอยากจะทำให้การเผชิญหน้ากันจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ความขัดแย้งของยุคสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาบ่งบอกความจำเป็นที่จะต้องมีการประนีประนอมภายใต้นาม ‘Détente’ ในระหว่างปี ค.ศ. 1967-1979

จากผลงานที่ชื่อ Camouflageในปี ค.ศ. 2022 สุธีเปลี่ยนมาเป็น Conceal ในปี 2024  คำว่า ‘พราง’ ไม่ได้ทรงประสิทธิภาพมากเท่ากับ ‘Conceal’ หรือ ‘ปิด’ หรือ ‘ซ่อน’ สำหรับคำว่า ‘Camouflage’ นั้นแสดงถึงการปลอมแปลง ปลอมตัว ในขณะที่ ‘Conceal’ นั้น ‘ปิด’ ไม่เห็นอะไรเลย แม้กระทั่งสิ่งปลอมๆ การถูกปิดกั้นจากความจริงทำให้ทุกอย่างดำมืด ความชัดเจน ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจ ความไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดนี้มีดำรงเสมอเมื่อถูกปิดกั้นจากความจริง เมื่อยังไม่สามารถเห็นแสงสว่างแห่งความจริงในอนาคต ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความวิตกจริตจะบังเกิด 

ผลงานชื่อ Camouflage (Thailand and Her Neighbors) ปี 2565 สีอะคริลิคบนลินินแคนวาส, 170 x 120 ซม.

ผลงานชื่อ ประเทศไทยลายอีอาร์ดีแอล (สงครามเย็น) ในนิทรรศการ พราง

ความคิดโลกาภิวัตน์ (globalization) อันเป็นความคิดทางด้านการตลาด (marketing) ในตอนแรกๆ นั้นแสดงถึงการยึดโยงทางเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินไปอย่างเหนียวแน่น การตลาดของคำว่าโลกาภิวัตน์ประสบความสำเร็จจนทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสงครามจะไม่เกิด แต่โลกาภิวัตน์กลับเปิดทางไปสู่ความแตกต่าง ไปจนถึงระดับความแตกแยกในระดับของการแยกขั้วทางการเมือง นอกจากนั้นช่องว่างทางชนชั้นและความมั่งคั่ง (wealth) ขยายตัวอย่างหนัก ความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเป็นต้นมาเป็นอย่างน้อย ก็ยิ่งทำให้ความวิตกจริตต่อสงครามกลางเมืองเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ประเทศเสรีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งอย่างสหรัฐอเมริกากลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง จนกระทั่งเปิดทางไปสู่ข้อเสนอเรื่องการแยกประเทศ Christopher Zurn เสนอไว้ใน Splitsville USA: A Democratic Argument for Breaking Up the United States (2023) ภาพของความขัดแย้งในสหรัฐอเมริกายังปรากฎในภาพยนตร์ Civil War (2024) จากการกำกับของ Alex Garland สำหรับสำนึกเรื่องการแยกออกเป็นประเทศใหม่ของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ความคิดใหม่ เช่น การแยกตัวเป็นประเทศของแคลิฟอร์เนีย ความคิดแบบนี้มีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น

II

คำว่า ‘Conceal’ อยู่ในตำแหน่งอีกด้านหนึ่งของคำว่า ‘ความโปร่งใส’ (transparency) สำหรับคำหลังเป็นความคิดร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลายทศวรรษที่ผ่านมา ใคร ๆ ก็ต้องกล่าวถึง ‘ความโปร่งใส’ (transparency)  แสงสว่างที่ฉายไปในพื้นที่ที่ดำมืด ทำให้ ‘รู้’ ได้ว่า ‘เป็น อยู่ คือ’ อะไร เมื่อ ‘รู้’ ก็สามารถจัดการและควบคุมได้ เมื่อ ‘รู้’ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหวาดกลัวหรือวิตกจริต (anxiety) กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนอีกต่อไป 

‘ความโปร่งใส’ (transparency) ของรัฐเป็นความคิดที่สำคัญที่แพร่หลายนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา  การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการของรัฐกลายมาเป็นวิถีทางของการเมืองและกฎหมายที่คอยกำกับและควบคุมรัฐ กฎหมาย ‘Freedom of Information’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมรัฐต่าง ๆ ถึงแม้ว่ากฎหมายแบบนี้จะมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1766 ในสวีเดนแล้วก็ตาม แต่กว่าจะขยายตัวเป็นจริงเป็นจังอย่างมากก็หลังครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 1966 ในปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 ก็มีฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา แต่อังกฤษและเยอรมันก็เริ่มในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เกาหลีในปลายปี ค.ศ. 1996 ปากีสถาน ค.ศ. 2003 ไนจีเรีย ค.ศ. 2011 เป็นต้น

ความคิดเรื่อง ‘ความโปร่งใส’ ดำเนินไปพร้อมกันกับคำ เช่น ‘เสรีประชาธิปไตย’ ‘เสรีภาพของข่าวสาร’ ‘ความไว้วางใจ’ ‘ความจริงใจไม่หลอกลวง’ ฯลฯ คำต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้นหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์หรือการสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War)  จนนำไปสู่การขยายตัวของ ‘globalization’ ไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรม จนทำให้กิจการลงทุนจากต่างแดนต้องการความมั่นใจและชัดเจนจากเหล่ารัฐในดินแดนยากจนที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ  คำว่า ‘globalization’ เป็นคำที่ใช้กันมากกว่าที่จะใช้คำว่า ‘Westernization’ หรือแม้กระทั่ง ‘Christianization’ 

ในวิถี ‘globalization’ นั้น ‘ตลาด’ เป็นพระเจ้าองค์ใหม่ จนนำไปสู่คำโจมตีแบบ ‘market fundamentalism’  เพราะดูจะงมงายไม่แตกต่างไปจากเหล่าผู้คลั่งศาสนาหรือเหล่า ‘fundamentalist’ ทั้งหลาย  พลังความคิดตลาดระดับโลกใน ‘globalization’ ทำให้ผู้คนคิดไปถึงการสิ้นสุดของรัฐประชาชาติและเขตแดน เช่น สำนึกการเป็นพลเมืองโลก เป็นต้น แต่การขยายการค้าไประดับโลกไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่ไม่มีใครคุ้นเคย ก็ทำให้ความโปร่งใสเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนจากแดนไกลว่ารัฐในประเทศต่าง ๆ มีระบบที่เชื่อใจได้

ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund)  ต่างสนับสนุนความโปร่งใสอันเป็นกลไกสำคัญของเสรีนิยมใหม่ ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางขององค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้  มาตรการแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Program) คือแนวปฏิบัติการที่ประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเงินกู้ต้องรับเอาไปปฏิบัติ เช่น Privatization การค้าเสรี แก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุล (ตัดงบ) เป็นต้น สำหรับประเทศไทยก็รับเอาแนวทางเหล่านี้มาตั้งแต่รัฐบาลเปรมไล่มาจนถึงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 

ในปี ค.ศ. 1998 ความโปร่งใสด้านการคลัง “Code of Good Practice and Fiscal Transparency” เป็นแนวทางของ International Monetary Fund ด้วยพลังของอินเตอร์เน็ทและวิถีดิจิตัลก็ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงใหลและเชื่อมั่นไปกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยไม่มีอะไรมาปิดกั้นเพิ่มมากยิ่งขึ้น  เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารคือวิถีชีวิตแบบใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างตรวจสอบได้ มีความสมเหตุสมผลในการกระทำและรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกระทำนั้น (accountability) ทุกสิ่งทุกอย่างและทุก ๆ คนจะถูกตรวจสอบ ‘บัญชี’ (account)

ถึงแม้ว่าการ ‘นับตัวเลข’ จะเป็นอะไรที่มีมาก่อนหน้าสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป (European modernity)  แต่ ‘Rationality’ ได้กลายมาเป็นดัชนีสำคัญของสภาวะสมัยใหม่แบบยุโรป ‘Rationality’ ที่ร่วมรากศัพท์กับคำว่า ‘Ratio’ สำหรับรากศัพท์ภาษาละตินของคำ ๆ นี้ หมายถึงการนับ การคำนวณ และยังรวมไปถึงการคิด ความเชื่อ คณิตศาสตร์จึงเป็นองค์ประกอบของสภาวะสมัยใหม่

อุปลักษณ์ (metaphor) ของคำว่า ‘โปร่งใส’ แสดงถึงความอยากที่จะให้ความลับดำมืดของรัฐได้รับการเปิดเผยด้วยแสงสว่างที่สาดส่องเข้าไป กรอบความคิดความสว่างของรัฐเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความลับที่ดำมืดของรัฐในยุโรป แสงสว่างของประชาสังคม (civil society) และประชาชนจะสาดส่องไปยังปฏิบัติการของรัฐ ทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐที่เคย ‘ดำมืด’ จะถูกเปิดเผย ในศตวรรษที่สิบเก้าความโปร่งใสกับปฏิบัติการของรัฐปรากฎให้เห็นในความคิดของนักคิดอังกฤษ Jeremy Bentham ผู้เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่กล่าวถึงพลังแห่งแสงสว่างและการมองเห็นในฐานะการควบคุมมนุษย์   

ในศตวรรษที่สิบแปดเทคโนโลยีและความรู้เรื่องแสง (optic) ขยายตัวไปอย่างมาก กล้องส่องระยะไกล กล้องจุลทรรศน์ ฯลฯ ทำให้อะไรที่ไม่มีใครเคยเห็น ได้กลายมาเป็นความจริงใหม่ๆ ส่วนประสบการณ์ที่ได้จากการมองผ่านหน้าต่างกระจกใส พร้อมกับสำนึกและความคิดแบบยุคแสงสว่าง (Enlightenment) ก็ทำให้โลกทัศน์แบบที่เห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งกลายมาเป็นระบบคิดในการมองโลก ไล่ไปจนถึงโลกที่ไม่มีอะไรปิดบัง  

อากาศสามารถไหลผ่านไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ชีวิตสดชื่น ชีวิตที่มีอากาศดี ๆ ไม่อับเป็นเรื่องสำคัญมากของสังคมอุตสาหกรรม ส่วนความโปร่งใสทางด้านสถาปัตยกรรมก็ยังหมายถึงการสอดส่องควบคุมพฤติกรรมของคนในอาคารว่าทำอะไรที่ผิดศีลธรรมของคริสต์ศาสนาหรือไม่ การสอดส่องตรวจตราคนอื่น ๆ และตัวเอง เป็นวิถีแห่งแสงสว่างที่บ่งบอกถึงการควบคุม สิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือผิดศีลธรรมที่แอบซ่อนอยู่ทั้งหลายจะต้องถูกนำมาตีแผ่ 

กลไกของการตรวจสอบจากศาสนจักร พระ เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงเพื่อนๆ เพื่อนบ้าน ฯลฯ หลังการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในคริสต์ศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา ทำให้การตรวจสอบและสอดส่องชีวิตทั้งฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น การสารภาพบาป (confession) ทำให้การกระทำที่เลวร้ายถูกตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อม ๆ กันนั้น ผู้กระทำผิดก็จะต้องสำนึกในบาปจากการกระทำที่ชั่วร้าย   

การสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนในยุโรปด้วยกันเองนั้นเป็นการสร้างให้ผู้คนมีระเบียบวินัยทั้งกับตัวเองและสังคม ความโปร่งใสที่สามารถเห็นทุกอย่างแบบทะลุปุโปร่งจึงมีเป้าหมายอยู่ที่การเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามของสังคม ถึงแม้ว่าจะนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจระหว่างกันของผู้คน เพราะทุก ๆ คนจะถูกสอดแนมและถูกรายงาน วิถีชีวิตภายใต้รัฐที่นักประวัติศาสตร์ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบเรียกว่า ‘Confessionalized State’ นั้นไม่มีใครไว้ใจใครได้ 

โลกไม่ดำมืดเพราะแสงสว่างแห่งศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้าของคริสต์ศาสนาได้มอบให้กับโลก พระผู้เป็นเจ้าผู้กล่าวว่า “Let there be light: and there was light” ในขณะที่เทพพระเจ้า (God) ที่เป็นผู้ชายแบบ ‘dyeus’  ที่ยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า ‘day’ ‘dias’ ‘diva’ ‘deus’ บ่งบอกถึงพระเจ้าผู้ชายที่อยู่บนฝากฟ้า ผู้ส่องสว่างให้กับโลก  เทพพระเจ้า (God) ผู้ชายที่อยู่บนฝากฟ้าขยายตัวไปได้ตราบใดก็ตามที่มีฝากฟ้า เทพเจ้า (deity) ผู้ชายแบบนี้แตกต่างไปจากเทพพระเจ้า (God) แผ่นดินที่เป็นผู้หญิง  เช่น พระแม่ธรณี พระแม่คงคา เป็นต้น

ฝากฟ้าแสงสว่างไสวยังเป็นอุปลักษณ์ให้เห็นความจริงไปจนถึงศีลธรรมอันดีงาม  แสงสว่างทำให้ความจริง ความดี และความงาม เป็นสิ่งเดียวกัน  ในท้ายที่สุดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เลวร้ายสกปรกไม่งดงามจะถูกเปิดเผยออกมา  ‘สิ่งที่ถูกเปิดเผย’ หรือ ‘aletheia’ ในภาษากรีกโบราณ หรือ ‘สิ่งที่ไม่ได้ถูกปกปิด’ หรือ ‘ความจริง’ ในปรัชญาจากกรีกโบราณนั้นถูกนำกลับขึ้นมาใช้โดยนักปรัชญา Martin Heidegger ในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ

บรรยากาศในห้องที่จัดแสดงเบื้องหลังการทำงานชุด พราง

อุปลักษณ์ของคำแบบแสงสว่างนั้นเป็นหัวใจสำคัญของญาณวิทยา (epistemology) ของโลกตะวันตก  การให้ความสำคัญกับแสงและการเห็นเป็นอคติทางญาณวิทยาที่เรียกว่า ‘Ocularcentrism’ ของโลกตะวันตก จากคำว่า ‘Theory’ จนถึง ‘theatre’ นั้น ล้วนแล้วแต่มีรากมาจากคำว่า ‘theõria’ บ่งบอกถึงการมอง การเห็น ทัศนศิลป์ (visual art) ถูกควบคุมด้วยแสงสว่างและการมองเห็นตามคำ ‘visual’ หรือ ‘ทัศน์’  ผัสสะจากการเห็นสำคัญมากกว่าผัสสะแบบอื่น ๆ เช่น กลิ่นไม่มีบทบาทสำคัญ เป็นต้น ทัศนศิลป์เป็นโลกของ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” ทัศนศิลป์ไม่ต้องการผัสสะจากหู มือ และลิ้น ฯลฯ ในโลกของทัศนศิลปะนั้น ‘ระยะห่าง’ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เสมอ

การเมืองสร้างระยะห่างระหว่างการเมืองและผู้คนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ  ระยะห่างเริ่มต้นตั้งแต่ระยะของ ‘เมือง’ และ ‘ชนบท’ ถึงแม้ว่า ‘พล/ชนบท’ จะถูกเปลี่ยนให้เป็น ‘พล/เมือง’ (citi-zen) ภายในโครงสร้างรัฐประชาชาติ (nation-state) ด้วยกลไกการศึกษาภาคบังคับก็ตาม แต่ช่องว่างของโครงสร้างประชาน (cognitive structure) ที่หล่อหลอมขึ้นมาด้วยวิถีทางชนชั้นและครอบครัว ยังคงกำกับวิถีชีวิตและความเข้าใจโลกที่ฝังรากลึกอยู่นั้นยังคงรักษาความแตกต่างอยู่เสมอ ความแตกต่างก็ยังคงรักษาระยะห่างไว้เสมอ 

ความโปร่งใสทางการเมืองไม่ได้หมายความถึงความใกล้ชิดและการเป็น ‘คนใน’ ทางการเมือง  ด้วยระยะห่างจากชนบทและเมืองกับการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เสมอ ความอยากที่จะมีความโปร่งใสทางการเมืองชี้ให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความมืด ความลับที่ดำมืดคือการเมืองของรัฐ การเมืองของการปกครองและการกำหนดตัดสินนโยบาย กรอบความคิด ‘ทฤษฎีระบบ’ (system theory) ของนักรัฐศาสตร์ผู้โด่งดังในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 จากสหรัฐอเมริกา David Easton ในกลางทศวรรษที่ 1960 ได้กล่าวถึง ‘กล่องดำ’ (Black Box) อันเป็นพื้นที่ของการตัดสินใจและสร้างนโยบายทางการเมือง  ‘กล่องดำ’ คือพื้นที่ที่ไม่ใครรู้ได้ว่าปฏิบัติการอย่างไร

แต่ความลับดำมืดของรัฐบางอย่างไม่ได้เป็นอะไรที่สามารถจะเปิดให้แสงสว่างสาดส่องเข้าไปได้   ความสามารถในการจ้องดูการปฏิบัติการของรัฐที่ดำมืดต้องการความสามารถพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี บุคคลที่สามารถดังกล่าวคือ ‘spy’ หรือสายลับ  ความสามารถในการ “จ้องดูอย่างระมัดระวัง” โดยไม่มีใครรู้ว่ากำลังสอดส่องอยู่นั้นเป็นรากศัพท์ของคำว่า ‘spy’ อาชีพของสายลับจำเป็นที่จะต้องรักษาความลับของผู้จ้องมองเอาไว้ จนกว่าความลับจะถูกเปิดเผย 

ถึงแม้ว่า ‘สายลับ’ จะเป็นที่รู้จักกันดีจากนวนิยายไปจนถึงสื่อแบบต่าง ๆ แต่ไม่มีรัฐบาลที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ของตัวเองคนนั้นคนนี้เป็นสายลับ สถานะของสายลับจึงถูกเรียกด้วยคำแบบอื่น ๆ เช่น ฝ่ายข่าวกรอง ฝ่ายความมั่นคง ทูต นักวิชาการ เป็นต้น สถานะลับๆ ของสายลับจะแสดงสถานะสายลับก็ต่อเมื่อถูกเปิดเผยหรือถูกจับได้ ตราบใดก็ตามความลับของการเป็นสายลับยังไม่ถูกเปิดเผยก็ยังไม่รู้ว่าเป็นสายลับ  ปฏิบัติการของสายลับคือทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์และความมั่นคงให้กับรัฐ ไม่ว่าจะปฏิบัติภายในรัฐหรือจะเป็นระหว่างรัฐก็ตาม 

ในประวัติศาสตร์นักการทูตนั้นเป็นหนึ่งในสายลับคนสำคัญ จาก Sir Francis Walsingham หรือ ‘Spymaster’ ของพระราชินี Elizabeth I จนถึง William Joseph Donovan คือตัวอย่างที่ดี  Donovan ผู้มีเพื่อนร่วม Columbia Law School อย่างประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt อดีตนักกฎหมายและเป็นหัวหน้าหน่วย Office of Strategic Services (OSS) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยก่อนหน้าที่จะรับตำแหน่งกับประธานาธิบดี FDR ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Donovan มีข้อเสนอว่าจะต้องขึ้นตรงกับประธานาธิบดีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Donavan ต้องการคือ งบลับ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Donovan ผิดหวังจากการไม่ได้ตำแหน่งหัวหน้า CIA รางวัลปลอบใจก็คือได้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพในช่วงปี ค.ศ. 1953-1954  หลังจาก Donovan สหรัฐอเมริกาส่ง John E. Peurifoy มาดำรงตำแหน่งแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพฯ แทน โดย Peurifoy ย้ายมาจากประเทศกัวเตมาลา  ในขณะที่ Peurifoy เป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่กัวเตมาลานั้น ก็เป็นช่วงเวลาของการรัฐประหารล้มรัฐบาล Jacobo Arbenz ที่ต้องการทำการปฏิรูปที่ดินในปี ค.ศ. 1954   การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา  ปฏิบัติการของ CIA ดำเนินไปภายใต้นาม Operation PBSUCCESS พร้อมกับเงิน 2.7 ล้านดอลล่าร์ที่ผ่านความเห็นชอบจากประธานาธิบดี Dwight Eisenhower  ข้อมูลเหล่านี้ของ CIA ถูกเปิดเผยหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเกือบครึ่งศตวรรษด้วยพลังของ Freedom of Information Act

ความลับของรัฐทุกรัฐไม่ว่าจะปกครองในระบอบใดต้องการปฏิบัติการลับๆ  เมื่อลับๆ ก็ย่อมไม่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น ปฏิบัติการทางการทหาร การเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น  ความลับของรัฐไปจนถึงการรักษาความลับ ไล่ไปจนถึงความต้องการความลับของรัฐอื่น ๆ นั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐ หนึ่งในความสามารถของรัฐที่จะดำรง ‘ชีวิต’ อยู่รอดได้ก็จะต้องมีสายลับและการจารกรรมไปจนถึงการต่อต้านการจารกรรมของฝ่ายศัตรู จากการติดสินบนคนของฝ่ายศัตรูจนการทำลายล้างศัตรูคือปฏิบัติการสำคัญของรัฐ 

การสังหารฝ่ายศัตรูเป็นปฏิบัติการสำคัญของรัฐ ปฏิบัติการสังหารเป้า (target killing) เป็นหนทางสำคัญของรัฐในการกำจัดศัตรู เช่น ใช้โดรนติดอาวุธระยะไกล (long-range armed drone) เป็นต้น ถึงแม้ว่าการฆ่าคนจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และยังเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ๆ ปฏิบัติการเหล่านี้จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศไล่จนถึงกฎบัตรสหประชาชาติ

แต่รัฐสามารถที่จะสังหารศัตรูที่เป็นภัยต่อรัฐได้เสมอ “ถ้าใครคิดจะมาสังหารท่าน ลุกขึ้นแล้วก็ฆ่ามันก่อน” เป็นข้อความใน Talmud ที่มีความสำคัญมากในการสร้างความสมเหตุสมผลต่อปฏิบัติการของรัฐอิสราเอล  จนทำให้รัฐอิสราเอลปฏิบัติการสังหารเป้ามากกว่าประเทศใด ๆ ในโลกตะวันตก คืออยู่ที่ประมาณ 2700[1] ปฏิบัติการเหล่านี้ถือว่าเป็นการต่อต้านการก่อการร้าย (counterterrorism) ภายใต้นามการปกป้องตนเอง (self-defense) เช่น ปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในการสังหารนายพล Qasem Soleimini ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2020  การโจมตีสถานทูตอิหร่านที่กรุงดามัสกัสของอิสราเอลในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2024 เป็นต้น ปฏิบัติการเหล่านี้ของรัฐจัดอยู่ความลับสุดยอดที่รัฐไม่ต้องการให้มีใครอื่น ๆ รู้ ปฏิบัติการแบบ ‘ดำมืด’ ของรัฐดำเนินไปอย่างลับ ๆ จนกว่ารัฐจะยินยอมและพร้อมที่จะเปิดเผยเมื่อถึงเวลา

ปฏิบัติการลอบสังหารเป้านั้นไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ของรัฐ อุดมการณ์แห่งรัฐไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์ไม่ได้ทำให้ปฏิบัติการลอบสังหารหายไปไหน ในช่วงสงครามเย็น KGB ทำปฏิบัติการลับมากเสียยิ่งกว่า CIA เพียงอำนาจของสื่อในประเทศเผด็จการทำให้ความลับดำมืดของรัฐยังคงดำมืดต่อไป ในขณะที่สหรัฐอเมริกาพยายามลอบสังหาร Fidel Castro ส่วน Joseph Stalin ก็พยายามที่จะลอบสังหาร Josip Broz Tito ผู้นำอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ความพยายามนี้หมดไปเมื่อ Stalin ตาย

[1] Christopher Andrew, The Secret World A History of Intelligence, (London: Allen Lane, 2018), p. 733.

ถึงแม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ แต่การต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยการเปิดเผยความลับต่าง ๆ ของรัฐภายใต้นาม ‘whistleblower’ ที่ส่งเสียงเตือนภัยจากการกระทำของรัฐ เช่น Wikileak จนทำให้ Julian Assange ชาวออสเตรเลียต้องลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอควาดอร์อยู่เจ็ดปี ก่อนที่รัฐบาลเอควาดอร์จะหยุดให้การคุ้มครอง การต่อสู้เพื่อไม่ให้รัฐบาลอังกฤษส่งตัวกลับไปขึ้นศาลสหรัฐอเมริกาตามการเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินต่อไป โดย Assange ผู้ไม่ได้รับประกันตัวได้นั้นโดน 18 คดี หนึ่งในนั้นก็คือละเมิด Espionage Act (1917) ด้วยการเปิดเผยเอกสารลับของรัฐ เป็นต้น 

อดีตฝ่ายปฏิบัติการลับ ๆ ของรัฐก็คือบุคคลสำคัญที่มักจะออกมาเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ  เช่น  John Kiriakou ผู้เคยทำงานให้กับ CIA ได้ออกมาเปิดเผยการทรมานนักโทษอัลกออิดะฮ์ (al-Qaeda) ด้วยเทคนิค Waterboarding โดยเอาผ้าขนหนูปิดหน้า แล้วเอาน้ำมาลาดลงไปให้น้ำไหลเข้าจมูกและหลอดลม จนทำให้ผู้ถูกทรมานรู้สึกเหมือนกับกำลังจะจมน้ำ แต่รัฐบาลประธานาธิบดี Obama จับ Kiriakou ด้วย Espionage Act 1917 เพราะ Kiriakou นำเอกสารลับของรัฐมาเปิดเผย   

รัฐต้องการรักษาความลับ รัฐต้องปิดบังตัวเองจากปฏิบัติการลับ ๆ เพื่อความมั่นคง แต่รัฐกลับต้องการความโปร่งใสจากผู้คน ด้วยประสิทธิภาพของดิจิตัลเทคโนโลยีที่สามารถจับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้คนด้วยอัลกอริทึ่ม (algorithm) ก็ทำให้สามารถประเมินและกำกับพฤติกรรมของผู้คนได้จากข้อมูลส่วนตัวที่ถูกบันทึกผ่านเครื่องมือดิจิตัลต่าง ๆ  ความเป็นส่วนตัวที่เคยเป็นความลับส่วนบุคคลค่อยๆ ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ เช่น การให้คะแนนความประพฤติของรัฐจีนคอมมิวนิสต์ เป็นต้น การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในสังคมไร้เงินสดจึงเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบผู้คน

ความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่เป็นความลับส่วนบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีเสรีประชาธิปไตย  วิถีชีวิตลับ/ส่วนตัวไม่ต้องการให้รัฐจนถึงอำนาจสาธารณะเข้ามายุ่งย่าม พื้นที่ส่วนตัวเป็นพื้นที่ที่จะต้องปิดเอาไว้ เพียงแต่ภายใต้สังคมดิจิตัลเทคโนโลยีทุก ๆ คน ทุกอย่าง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เปิดเผยข้อมูลให้กับบริษัทดิจิตัลเทคโนโลยี ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกบันทึกทุก ๆ นาทีรู้จักกันในนาม “อัตตาเชิงปริมาณ”  หรือ “quantified self” ด้วยดิจิตัลเทคโนโลยีทำให้การเก็บข้อมูลของคนแต่ละคนเป็นไปได้ เช่น การนอน การหายใจ การเต้นของหัวใจ ฯลฯ  ไล่ไปจนถึงระดับ DNA ในโลกแห่งดิจิตัลเทคโนโลยีนั้นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความโปร่งใสด้านข้อมูลสำหรับตัวเอง เพียงแต่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นอยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยีที่พร้อมจะนำมาใช้เป็น ‘ข้อมูลขนาดใหญ่’   

สิ่งมีชีวิตจำนวนหนึ่งได้ใช้ความโปร่งใสเป็นกลไกในการพรางตัว เช่น แมงกะพรุน กบกระจก เป็นต้น ความโปร่งใสจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำพรางได้ไม่แพ้การปกปิด เมื่อรัฐใช้กลไกของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีดิจิตัล ก็ยิ่งตอกย้ำ ‘ความเย็นยะเยือกของรัฐ’ ตามคำกล่าวของนักคิดเยอรมันในปลายศตวรรษที่สิบเก้า Friedrich Nietzsche ผู้กล่าวว่า

“A state, is called the coldest of all cold monsters. Coldly lieth it also: and this lie creepeth from its mouth: ‘I, the state, am the people’. It is a lie.”

ศาสตราจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา

[RELATED ARTICLES]